ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า
(Agreement on Technical Barriers to Trade: TBT Agreement)
   เป็นความตกลงหนึ่งที่อยู่ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ 
1. เพื่อสร้างความมั่นใจว่ากฎระเบียบทางเทคนิค (Technical Regulations) มาตรฐาน (Standards) และกระบวนการประเมินความสอดคล้อง (Conformity Assessment Procedures) ที่ประกาศนั้นจะไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นต่อการค้า และ
2. ให้สิทธิแก่ประเทศสมาชิกในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องชีวิตหรือสุขภาพของคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายของความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าเพื่อลดการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีจากการกำหนดมาตรฐานหรือกฎระเบียบเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่แตกต่างกันของสมาชิก 
โครงสร้างของความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 
    ซึ่งประกอบด้วย 3 ข้อที่สำคัญ ดังนี้
    1. กฎระเบียบทางเทคนิค (Technical Regulations) หมายถึง เอกสารที่กำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการและกรรมวิธีการผลิตที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ รวมถึงข้อกำหนดทางการบริหารด้วย เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตาม โดยจะรวมหรือระบุเฉพาะถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการเรียกชื่อ และการใช้สัญลักษณ์การบรรจุหีบห่อ การทำเครื่องหมายหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฉลากที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ กระบวนการหรือกรรมวิธีการผลิตด้วย ซึ่งครอบคลุม 1) คุณลักษณะเฉพาะและคุณภาพของ ผลิตภัณฑ์ (Characteristics of the Products)  2) กระบวนการและกรรมวิธีการผลิต ซึ่งมีผลต่อคุณลักษณะ ของผลิตภัณฑ์  3) การเรียกชื่อและการใช้สัญลักษณ์ (Terminology and Symbol) และ 4) การบรรจุหีบห่อ และการติดฉลากกับผลิตภัณฑ์ (Packaging and Labeling Requirements)  
     2. มาตรฐาน (Standards) หมายถึง เอกสารที่ได้รับความเห็นชอบโดยองค์กรที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งกำหนดกฎ แนวทาง หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการ และกรรมวิธีการผลิตที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้กันโดยทั่วไปและใช้อยู่เป็นประจำ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตาม โดยรวมหรือระบุถึงข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ สัญลักษณ์ การบรรจุหีบห่อ การทำเครื่องหมาย หรือการติดฉลากที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือ กรรมวิธีการผลิตด้วย 
      3. กระบวนการประเมินความสอดคล้อง (Conformity Assessment Procedures) หมายถึง การใช้กระบวนการ เพื่อตรวจสอบหรือพิสูจน์ ได้ว่ามีการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของกฎระเบียบ ทางเทคนิคหรือมาตรฐาน โดยการประเมินความสอดคล้องดังกล่าว จะยึดหลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ หลักการปรับให้สอดคล้องกันของกระบวนการประเมิน และหลักความโปร่งใส ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีประเทศอื่นเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการ ประเมินความสอดคล้องของตน กระบวนการประเมินความสอดคล้องเป็นกระบวนการพิจารณาทางด้านเทคนิค เพื่อยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ ได้มีการผ่านข้อบังคับหรือข้อกำหนดที่ได้วางไว้ในกฎระเบียบและมาตรฐาน กระบวนวิธีการ ประเมินความสอดคล้อง ได้แก่ กระบวนการสุ่มตัวอย่าง การทดสอบ การตรวจสอบความถูกต้อง การตรวจตราหลังการผลิต การรับรองระบบงานและการรับรองผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้หน่วยประสาน TBT ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
และ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (ส่วนของสินค้าเกษตรและอาหาร)
 
    ตัวอย่างมาตรการ TBT 
  1.  กฎระเบียบกำหนดมาตรฐานคุณภาพขนาดของถั่วลิสง และข้อกำหนดการทำเครื่องหมายและการบรรจุหีบห่อ
  2. กฎระเบียบด้านความปลอดภัยของของเล่น
  3. ข้อกำหนดการบรรจุหีบห่อและติดฉลากสารเคมีอันตรายและสารพิษ
  4. ข้อกำหนดการติดฉลากอาหารเกี่ยวกับตำแหน่ง ขนาดตัวอักษร ปริมาณสารอาหาร
  5. ข้อกำหนดว่าด้วยเรื่องคุณภาพ การคัดเกรด และการติดฉลากสำหรับผลไม้นำเข้า
  6. ฉลากคำเตือนอันตรายจากการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (บุหรี่ไม่จัดว่าเป็นอาหาร)
     
   
     
    WTO 
    Booklet TBT Agreement (ไทย)
   

              ที่มา: กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

    Booklet TBT Agreement (Eng)
Copyright © 2015. www.acfs.go.th All Rights Reserved.
หน่วยประสานงานกลางด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของประเทศไทย(Thailand SPS Contact Point)
กลุ่มความตกลงสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและอื่นๆ (SPS Section)
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
ที่อยู่ เลขที่ 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ. 10900
โทร. 02-561-4204 โทรสาร 02-561-4034
E-mail : [email protected], [email protected]