ความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
(Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures-SPS)
  เป็นมาตรการที่ใช้ในการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารหรือเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อปกป้องและคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของมนุษย์พืชสัตว์ภายในประเทศของตนเองในด้านที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการบริโภคหรือเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่ติดมากับพืชสัตว์และผลิตภัณฑ์รวมทั้งสารเจือปนในอาหารสารพิษหรือจุลินทรีย์ที่เป็นพาหะของโรค ทั้งนี้การกำหนดระดับ ความปลอดภัย และการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า โดยจะต้องไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าหรือข้อกีดกันทางการค้า ประกอบด้วยหลักการสำคัญๆ ดังนี้
1. หลักมาตรฐานสากล (Priority of International Standards)
สมาชิกสามารถใช้มาตรการสุขอนามัยตามหลักสากลหรือกำหนดขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลทั้งนี้ต้องสะดวกต่อการนำมาใช้และเป็นที่ยอมรับได้ โดยที่สามารถกำหนดค่าให้สูงกว่ามาตรฐานสากลได้หากมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน โดยองค์กรระหว่างประเทศได้แก่
- CODEX ว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร
- OIE ว่าด้วยมาตรฐานการควบคุมโรคของสัตว์
- IPPC ว่าด้วยมาตรฐานการอารักขาพืช
กรณีที่มาตรฐานระหว่างประเทศไม่ครอบคลุม ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดมาตรฐานขึ้นเองได้ แต่จะต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ และนอกจากนี้ตามมาตรา 5.7 ของความตกลงนี้กำหนดข้อยกเว้นกรณีที่ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงพอสามารถใช้ provisional measure
2. หลักความเท่าเทียมกัน (Concept of Equivalence)
สมาชิกแต่ละประเทศสามารถใช้มาตรการสุขอนามัยที่แตกต่างกันในการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคของตนแต่ทั้งนี้สมาชิกต้องยินยอมนำเข้าสินค้า จากประเทศอื่นหากประเทศดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นว่ามาตรฐานการสุขอนามัยที่ถือปฏิบัติอยู่นั้นให้ความปลอดภัยไมต่ำกว่าเกณฑ์ความปลอดภัยที่ประเทศ ผู้นำเข้ากำหนดและประเทศผู้นำเข้าสามารถตรวจสอบขั้นตอนการผลิตได้หากมีการร้องขอ
3. หลักการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)
สมาชิกต้องมั่นใจต่อมาตรการสุขอนามัยที่นำมาใช้ว่ามีวิธีการประเมินความเสี่ยงที่ชัดเจนและเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ พืช สัตว์
4. หลักความโปร่งใส (Transparency)
สมาชิกต้องใช้มาตรการสุขอนามัยอย่างโปร่งใสโดยต้องนำมาตรฐานสากลมาใช้และในกรณีที่นำมาตรการที่มิใช่สากลมาใช้ประเทศผู้ออก มาตรการนั้นต้องส่งระเบียบ กฎเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติให้สมาชิกอื่นๆได้ทราบและแสดงข้อคิดเห็นล่วงหน้าก่อนมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ต้องมีคำชี้แจงวัตถุประสงค์และเหตุผลที่ต้องใช้มาตรการดังกล่าว ยกเว้นแต่กรณีฉุกเฉิน เช่น ป้องกันการระบาดของเชื้อโรคหรือแมลง
วัตถุประสงค์ของความตกลง SPS
-เพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์และสัตว์ จากสารปรุงแต่งสารปนเปื้อน สารพิษ หรือเชื้อโรคในอาหารและอาหารสัตว์
- เพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์จากโรคที่ติดมากับพืชหรือสัตว์
- เพื่อปกป้องชีวิตพืชและสัตว์จากศัตรูพืช (Pest) และโรคระบาดสัตว์
- เพื่อปกป้องอาณาเขตประเทศจากการแพร่ระบาดของโรคพืช แมลงศัตรูพืช
มาตรการ SPS ไม่ครอบคลุมเรื่องสิ่งแวดล้อม ความกังวลของผู้บริโภคและสวัสดิภาพของสัตว์ (animal welfare)
หน่วยงานแจ้งเวียนมาตรการของประเทศ (NNA : National Notification Authority)
ประเทศสมาชิกจะต้องกำหนดหน่วยงานแจ้งมาตรการ SPS (รัฐบาลเพียงหน่วยงานเดียว) เพื่อทำหน้าที่แจ้งเวียนมาตรการ SPS สู่เว็บไซต์องค์การการค้าโลก
จุดสอบถามของประเทศ (NEP : National Enquiry Point)
ประเทศสมาชิกจะต้องกำหนดจุดสอบถามกรณีสมาชิกอื่นมีข้อสงสัยต่อการใช้มาตรการ SPS อาจเป็นหน่วยงานเดียวกับ NNA หรือไม่ก็ได้ 
ตัวอย่างมาตรการ SPS
1. ร่างมาตรฐานการกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซินในเมล็ดถั่วลิสงแห้ง
2. ประกาศข้อกำหนดห้ามการนำเข้าสัตว์ปีกเนื่องจากพบไข้หวัดนกระบาด
3. การรับรองด้านความปลอดภัยอาหาร ด้านพืช ด้านสัตว์
4. การติดฉลากอาหารที่ระบุถึงความปลอดภัยอาหาร เช่น คำเตือน ปริมาณการใช้
5. การกำหนดปริมาณยาสัตว์หรือสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในอาหารคนและอาหารสัตว์
6. ฉลากคำเตือนอันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (แอลกอฮอล์จัดว่าเป็นอาหาร)
     
    SPS Agreement Book
 
WTO 
SPS Transparency Toolkits
 
Major decisions and documents
    Booklet SPS Agreement (Eng)
       
     
Copyright © 2015. www.acfs.go.th All Rights Reserved.
หน่วยประสานงานกลางด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของประเทศไทย(Thailand SPS Contact Point)
กลุ่มความตกลงสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและอื่นๆ (SPS Section)
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
ที่อยู่ เลขที่ 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ. 10900
โทร. 02-561-4204 โทรสาร 02-561-4034
E-mail : [email protected], [email protected]